27 เมษายน 2024

สิ่งที่ทำให้ประชาชนคนไทยสนใจและเฝ้าติดตามฟังผลวินิจฉัยของ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คนในวันนี้( 24 ส.ค. 2565)ซึ่งมีมติรับคำร้องที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน เข้าชื่อ 171 คน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลงนั้น ด้วย เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบกำหนดเวลาตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และต่อมา คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยให้ผู้ถูกร้อง (พล.อ.ประยุทธ์) ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน

นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง ทำให้ผู้ถูกร้อง (พล.อ.ประยุทธ์) ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2565 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และจาก กรณี มติศาลรัฐธรรมนูญ 5:4 ให้ “บิ๊กตู่” หรือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ทำให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สัมหล่นได้เป็นผู้รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ “บิ๊กตู่”ยังคงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุม คณะรัฐมนตรีได้

สำหรับกติการักษาราชการแทนนายกฯนั้น

ใน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 41 และ มาตรา 48 วรรคหนึ่ง กำหนดการรักษาราชการแทนนายกฯ ไว้ว่า

มาตรา 41 บัญญัติว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน

มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ให้ผู้รักษาราชการแทนตามความในพระราชบัญญัตินี้ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน

และเหตุผลที่ พล.อ.ประวิตร ต้องรักษาการ?

กรณีนี้ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ คนที่จะมารับภาระ คือ “พล.อ.ประวิตร” ก็เพราะ ในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 237/2563 วันที่ 13 สิงหาคม 2563

เรื่อง “มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีและมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ หรือ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง”

ระบุว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีตามลำดับ ดังนี้1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 2.นายวิษณุ เครืองาม 3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 5.นายดอน ปรมัตถ์วินัย 6.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

จึงเป็นที่มาของพล.อ.ประวิตร ที่ได้รับมอบหมายในลำดับที่ 1 จึงปฏิบัติหน้าที่ “รักษาราชการแทนนายกฯ”และแต่ในคำสั่งดังกล่าว กำกับไว้ชัดเจนว่า  “ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนข้างต้น จะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน” เท่ากับว่า หากรักษาราชการแทนนายกฯ คือ พล.อ.ประวิตร จะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ รวมถึงการอนุมัติงบประมาณ ที่อยู่ในอำนาจของ “นายกฯ ตัวจริง” จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก “นายกฯ ตัวจริง” คือ พล.อ.ประยุทธ์ เสียก่อน