7 พฤษภาคม 2024

วันที่ 8 ตุลาคม 2566 เวลา 15.00 น. พลเรือเอก วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสนาธิการทหารเรือ / เสนาธิการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติภารกิจของหน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำ บริเวณสะพานโยทะกา ตำบลบางสมบูรณ์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก

ตามที่กองทัพเรือ ได้รับหนังสือขอรับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ พร้อมกำลังพล อุปกรณ์และยุทโธปกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลงสู่แม่น้ำบางปะกง ณ พื้นที่อำเภอองครักษ์นั้น ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ ได้สั่งการให้กรมอู่ทหารเรือจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำพื้นที่จังหวัดนครนายก โดยจัดเรือผลักดันน้ำ จำนวน 40 ลำ พร้อมกำลังพล อุปกรณ์ และยุทโธปกรณ์ จากอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ ซึ่งได้สนับ สนุนการปฏิบัติภารกิจตามที่จังหวัดนครนายกร้องขอ และจะทำการติดตั้งเรือผลักดันน้ำทั้ง 2 จุด จำนวนจุดละ 20 ลำ

โดยในเวลา 13.00 น. หน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำได้ติดตั้งและเดินเครื่องระบบเรือผลักดันน้ำชุดแรก จำนวน 10 ลำ บริเวณสะพานโยทะกา ซึ่งบริเวณนี้จะมีการติดตั้งเรือผลักดันน้ำอีก 10 ลำ ในวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2566

ต่อมา เรือผลักดันน้ำชุดที่สอง ได้ถูกติดตั้ง ณ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำนครนายก ตำบลทรายมูล จำนวน 5 ลำ และจะดำเนินการติดตั้งอีก 15 ลำ ในวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ตลอดจนเดินเครื่องผลักดันน้ำพร้อมกันทันทีทั้ง 2 จุด เพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติอย่างด่วนที่สุด โดยการปฏิบัติชุดเฉพาะกิจผลักดันน้ำ จะเดินเครื่องวันละ 12 ชั่วโมง เวลา 08.00-20.00 น.

สำหรับเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำริสำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากตั้งแต่ปี 2538 โดยแนวความคิดนี้ กรมชลประทานได้นำไปดัดแปลงระบบ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาระบบน้ำทั่วประเทศจวบจนปัจจุบัน และจากองค์ความรู้ในการสร้างเรือผลักดันน้ำที่ไม่เคยหยุดพัฒนา ทำให้กองทัพเรือสร้างเรือผลักดันน้ำขึ้นใหม่ เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ประสบอุทกภัยในปี 2554 ได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังเป็นการสนองต่อพระราชดำริแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำอุปกรณ์เครื่องยนต์ที่มีอยู่เดิมมาผลิตและพัฒนาขึ้นใหม่เป็น 3 ขนาด คือขนาด 320 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 150,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ขนาด 220 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และขนาด 120 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 30,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน โดยเรือผลักดันน้ำของหน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ มีขนาดเรือ กว้าง 1.8 ม. ยาว 5.5 ม. สูง 1.25 ม. กินน้ำลึก 0.75 ม. เครื่องยนต์ ตราอักษร Volvo รุ่น Penta TAD 720VE กำลัง 237 แรงม้า อัตราความสิ้นเปลือง น้ำมันเชื้อเพลิง ดีเซล 16 – 20 ลิตร/ชม. (ตามความเร็วรอบเครื่อง) มีขีดความสามารถเร่งความเร็วน้ำ 100,000 ลบ.ม./วัน/ลำ มีจำนวนทั้งสิ้น 100 ลำ ซึ่งมีความพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจผลักดันน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยขณะนี้ได้เตรียมการสนับสนุนจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อผลักดันน้ำบริเวณพื้นที่อำเภอบางบ่ออีกด้วย

ทั้งนี้ เรือผลักดันน้ำ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ครั้งละปริมาณมาก อีกทั้งยังสามารถชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึงและเป็นคอขวด ซึ่งเป็นที่ลุ่มระบายน้ำออกได้ลำบากและไหลออกได้ช้า