4 พฤษภาคม 2024

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้รับแจ้งจากองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ว่า ได้ดำเนินการถอนคำแถลงตีความ (Interpretative Declaration) ในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) ข้อบทที่ 1 (คำนิยามการทรมาน) ข้อบทที่ 4 (การกำหนดให้การพยายาม การสมรู้ร่วมคิด และการมีส่วนร่วมในการกระทำทรมานเป็นความผิดที่ลงโทษได้ตามกฎหมายอาญา) และข้อบทที่ 5 (เขตอำนาจศาลสากลเหนือความผิดฐานกระทำทรมาน) อย่างเป็นทางการ โดยองค์การสหประชาชาติได้แจ้งเวียนตราสารดังกล่าวของไทยแล้ว และกำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การถอนคำแถลงตีความดังกล่าวของประเทศไทย เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเห็นชอบให้ประเทศไทยถอนคำแถลงตีความต่อข้อบททั้งสามข้อ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เนื่องจากพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566

สำหรับการถอนคำแถลงตีความต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ อย่างสมบูรณ์เต็มรูปแบบ ซึ่งความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากความพยายามในการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายภายในของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล ส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมทางกฎหมาย ซึ่งเป็นรากฐานของหลักนิติธรรม และสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้กับประชาชน อีกทั้งยังเป็นการแสดงความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของประเทศไทยในการปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ในฐานะรัฐภาคีโดยสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ที่ดีด้านสิทธิมนุษยชน สร้างการยอมรับและความเชื่อถือให้กับประเทศไทย รวมทั้งรับรองการคุ้มครองสิทธิในชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลให้กับประชาชน