29 มีนาคม 2024
พล.ต.ต.วาที ฯ เน้นย้ำ ทุกคนสามารถช่วยกันป้องกันเหตุเพลิงไหม้ได้ ด้วยการตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ภายในบ้านให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2565 ที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สพฐ.ตร.) พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร โฆษกสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก สพฐ.ตร.) กล่าวว่าในช่วงนี้มีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง สร้างความเสียหายและความสูญเสีย อย่างเช่นเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชนภายในชุมชนบ่อนไก่ ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ มีบ้านเรือนได้รับความเสียหาย 30 หลัง ส่วนคอนโดบริเวณใกล้เคียงก็ได้รับผลกระทบจากความร้อน ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตปทุมวันและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ได้รับความเสียหายในเบื้องต้น โดยการตั้งโต๊ะรับแจ้งความในพื้นที่เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน หรือย้อนกลับไปกับเหตุสลดกลางดึกของคืนวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 เกิดเพลิงลุกไหม้บ้านเลขที่ 28/57 หมู่ 6 ต.บ่อพลับ อ.เมืองนครปฐม ทำให้ นาง กาณต์รวี รวงผึ้ง อายุ 46 ปี เจ้าของบ้าน เสียชีวิตพร้อมลูกหลานวัย 1,5, และ 12 ปี รวม 4 ศพ นั้น หลายๆเหตุการณ์จากการตรวจพิสูจน์ของตำรวจพิสูจน์หลักฐาน พบว่าสาเหตุมักเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือสายไฟชำรุด จากการใช้งานมานาน และขาดการบำรุงรักษา

ด้าน พ.ต.อ.หญิง ศิริประภา รัตตัญญู นวท.(สบ๔) กสก.พฐก. กล่าวว่าเมื่อได้รับการร้องขอจากพนักงานสอบสวนให้ไปร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุ จะมีหลักในการทำงานด้วยการสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ในหัวข้อหลักๆ คือ(1. )สถานการณ์เพลิงไหม้ขณะนั้น เพลิงสงบหรือยัง,ควันยังมีมากหรือไม่ เป็นต้น (2.)มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่
(3. )สถานที่เกิดเหตุเป็นอะไร เช่น บ้าน ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ อาคารสูง ชุมชน โรงงาน ฯลฯ(4.)ความปลอดภัยของสถานที่เกิดเหตุก่อนเข้าตรวจ (5.)แจ้งพนักงานสอบสวนประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง(ถ้าจำเป็น) เช่น เจ้าหน้าที่โยธา วิศวกรรมสถาน หรือเจ้าของพื้นที่ที่เกิดเหตุเพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นกรณีหากเป็นโรงงาน หรืออาคารสูง
หลังจากพื้นที่เกิดเหตุได้รับการยืนยันความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแล้ว จึงจะเข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุทันที ขั้นตอนการตรวจมี 4 ขั้นตอน คือ(1.)การตรวจสภาพความเสียหายภายนอก (2.)การตรวจสภาพความเสียหายภายใน (3.)การตรวจหาจุดต้นเพลิง (4.)การตรวจหาสาเหตุของเพลิงไหม้ สำหรับสถิติเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ.2562 เกิดเหตุจำนวน 472 ครั้ง ปี พ.ศ.2563 จำนวน 430 ครั้ง ปี พ.ศ.2564 จำนวน 411 ครั้ง และปี พ.ศ.2565 (มกราคม – มิถุนายน) จำนวน 211 ครั้ง

พล.ต.ต.วาที ฯ เน้นย้ำอีก ว่าทุกคนสามารถช่วยกันป้องกันเหตุเพลิงไหม้ได้ ด้วยการตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ภายในบ้านให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ สายไฟที่เก่าหรือชำรุดควรเปลี่ยนใหม่เพื่อความปลอดภัย จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยจากเพลิงไหม้ ด้วยการกำจัดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง เก็บแยกสารเคมีที่ติดไฟง่ายให้ห่างจากแหล่งความร้อน ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันและระงับเหตุเพลิงไหม้ เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ก๊าซหุงต้ม และกิจกรรมที่เกี่ยวกับไฟ เช่น ไม่จุดยากันยุง หรือ ธูปเทียนทิ้งไว้โดยไม่มีคนดูแล ,ดับไฟก้นบุหรี่ให้สนิททุกครั้งก่อนทิ้ง ไม่จุดไฟเผาขยะบริเวณพงหญ้าแห้งหรือวัสดุติดไฟง่าย รวมไปถึงการติดเหล็กดัดประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันโจร ผู้ร้ายเข้ามาภายในบ้าน ควรติดตั้งแบบที่สามารถเปิดปิดได้ อย่างน้อยห้องละ 1 บาน หากเกิดเหตุจะสามารถออกจากห้องได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย