1 กรกฎาคม 2025

       สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี ร่วมกับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดปทุมธานี และ กลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล ประกอบด้วย จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ  ร่วมกันจัดโครงการ “เสน่ห์ใกล้กรุง” กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ถือเป็นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางไปสัมผัสเพื่อค้นหาความแตกต่างทางวัฒนธรรม วิถีชุมชนแต่ละพื้นที่ เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างประสบการณ์ร่วมและรับรู้ถึงคุณค่าทางวัฒนธรรม ผ่านการบอกเล่าเรื่องราว ความเป็นมา ผ่านโบราณสถาน สถาปัตยกรรม สถานที่สำคัญทางศาสนา และประวัติศาสตร์ รวมไปถึงการแสดงพื้นบ้าน ศิลปะประเพณี และอาหารท้องถิ่น ของกลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล ซึ่งแต่ละจังหวัดถือว่ามีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ล้วนมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยทั้งสิ้น

         กลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล อันประกอบด้วย จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนายกระดับการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานและส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม และให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัด และกระจายรายได้สู่ชุมชน อันนำมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
          โครงการ “เสน่ห์ใกล้กรุง” ในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยว และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล ทั้งจังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยมีการจัดกิจกรรม Press Tour และ Fam Trip นำผู้ประกอบด้านการท่องเที่ยว และสื่อมวลชนร่วมลงพื้นที่ชมแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในกลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล จำนวน 4 ครั้ง เป็น One Day trip

        คุณนงเยาว์ เนตรประสิทธิ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ฝ่ายตลาดในประเทศ กล่าวต้อนรับ และร่วมร่วมเดินทาง พร้อมด้วย นายภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ ประธานภาคีท่องเที่ยวไทย นำสมาชิกภาคีท่องเที่ยวไทย สมาชิกสมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย (สนท.) และผู้ประกอบการท่องเที่ยว รวมทั้งสื่อมวลชน กว่า 50 ราย  เริ่มจาก “วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร” โดยคณะเราได้กราบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และวัดนี้ก็ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2536 จากสมาคมสถาปนิกสยาม เพราะสถาปัตยกรรมในวัดนั้นมีความน่าสนใจอย่างมาก ทั้ง พระอุโบสถ ที่เป็นศิลปะงดงาม แบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 คือ มีศิลปะจากจีนมาผสมนั่นเอง ที่นี่มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 6 ศอก สูง 8 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว ที่ประดิษฐานในพระอุโบสถ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้หล่อพระพุทธรูปด้วยทองแดงขึ้น   นอกจากนี้ บานประตู บานหน้าต่างพระอุโบสถ เขียนลายรดน้ำปิดทอง ตราพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 3 และรูปกระต่ายภายในวงพระจันทร์เต็มดวง และในวิหารหลวงยังประดิษฐานพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ ส่วนวิหารขาว ประดิษฐาน พระศิลาขาว พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 30 นิ้ว สูง 33 นิ้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานในพระวิหารเมื่อปี พ.ศ.2401 พร้อมพระอัครสาวก 2 องค์ สูง 13 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปศิลา และยังมีกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถที่ทำเป็นกำแพงป้อมค่ายแห่งเดียวในประเทศไทย

           จากนั้นเดินทางไปที่ “วัดเสาธงทอง” ที่สร้างขึ้นโดยชาวมอญที่เข้ามาอาศัยอยู่ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า “วัดสวนหมาก” ต่อมาวัดนี้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดเสาธงทอง” ในช่วงปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ด้านหลังอุโบสถมีเจดีย์ศิลปะสมัยอยุธยา ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ย่อมุมสิบสองอยู่หลังโบสถ์ เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในเขตอำเภอปากเกร็ด และมีเจดีย์องค์เล็กเป็นเจดีย์บริวารโดยรอบอีก 2 ชั้น ด้านข้างโบสถ์มีเจดีย์องค์ใหญ่อีก 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมสูง อีกองค์หนึ่งมีรูปแปลกมีฐานเหลี่ยม พร้อมกราบสักการะขอพร มาที่นี่ไปกราบสักการะองค์พระอุปคุตที่แกะสลักด้วยไม้ทั้งองค์ รูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และองค์พระพุทธรูปปางมารวิชัย ระหว่างทางเดินบนเกาะเกร็ด ไปชมวิถีชุมชนเกาะเกร็ด เที่ยวชมตลาด   แล้วเดินทางต่อกันที่ “วัดปรมัยยิกาวาส” เป็นวัดโบราณชาวเรือเรียก วัดปากอ่าว ในปี พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดกฐินวัดมอญ ทรงเห็นว่าวัดปากอ่าวทรุดโทรมมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดใหม่ทั้งวัดโดยรักษารูปแบบมอญไว้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สนองพระคุณสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์ และได้พระราชทานนามวัดว่า “วัดปรมัยยิกาวาส” มีความหมายว่า “วัดของพระบรมอัยยิกา” และที่พลาดไม่ได้นั่นก็คือ “พระเจดีย์มุเตา” หรือ “เจดียเอียง” สถานที่เป็นไฮไลท์ที่เป็นสัญลักษณ์ของเกาะเกร็ด ที่สร้างขึ้นโดยชาวมอญที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารปลายกรุงศรีอยุธยา เป็นเจดีย์ทรงรามัญสีขาว ก่ออิฐถือปูน ฐานแปดเหลี่ยมย่อมุม ยอดเจดีย์มีฉัตรทรงเครื่อง 5 ชั้น อย่างมอญ สูง 1 วา ตั้งอยู่หัวมุมเกาะเกร็ด ภายในบรรจุพระธาตุเป็นที่เคารพสักการะ ของชาวไทยเชื้อสายมอญ เดิมเป็นเจดีย์ที่สร้างตั้งตรง ต่อมาน้ำเซาะตลิ่งพัง จึงทำให้เจดีย์ทรุดตัวและเอียงลงเมื่อ และที่นี่ได้ชมการสาธิตการทำขนมไทย เช่น ผกากรอง ทองเอก ขนมหันตรา การทำข้าวแช่ พร้อมชมการแสดงรำมะเทิ่ง เม้ยเจิง และชมการแสดงทะแยมอญ และได้เดินทางสู่ “วัดกู้” (พระนางเรือล่ม) วัดโบราณเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ในสมัยกรุงธนบุรี ประมาณปี พ.ศ. 2295 เมื่อไปถึงคณะผู้สื่อข่าวได้เข้าไปยังวิหารหลังใหม่ กราบสักการะขอพร “หลวงพ่อสำเร็จ” พระประธานที่ประดิษฐานภายใน   จากนั้นได้ไปกราบสักการะพระนอนองค์ใหญ่ ขนาด 33 เมตร และกราบหุ่นขี้ผึ้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่ด้านข้างวิหารนั้นก็จะเป็นที่เก็บเรือพระที่นั่งของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ที่อับปางที่อับปาง และที่วัดนี้ยังมี ศาลพระนางเรือล่ม ซึ่งจำลองแบบมาจากศาลาจตุรมุขของพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ที่พระราชวังบางปะอิน รวมถึงพระตำหนักที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานอีกด้วย