1 กรกฎาคม 2025

DPU จัดอบรม  Midjourney: AI สำหรับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ของสายครีเอทีฟ” เสริมศักยภาพอาจารย์และบุคลากรสายครีเอทีฟ

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 เวลา 13.00-16.00 น. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดยสายงานวิชาการ และ  กลุ่มคณะนิเทศศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และวิทยาลัย ANT ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “Midjourney: AI สำหรับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ของสายครีเอทีฟ” เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้กับคณาจารย์ และบุคลากร รองรับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ยุคดิจิทัล โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์สุชาติ มาลาล้ำ  ผู้ก่อตั้ง Midjourney Prompt Trick และ Creator AI Thailand มาเป็น วิทยากร พร้อม อาจารย์เมธากวี สีตบุตร Visual Designer  ผู้ดูแลเพจ Midjourney Thailand และอาจารย์ธตรฐ ชูรัตน์ 3D & VFX Artist เข้าร่วมการบรรยาย ณ อาคาร 2 ห้อง Smart Classroom มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

อาจารย์กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีกลุ่มวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวเปิดงานว่า การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตั้งแต่งานศิลปะ การออกแบบ ไปจนถึงภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล สถาบันการศึกษาจึงต้องปรับตัวและพัฒนาศักยภาพของคณาจารย์ และบุคลากร ให้สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้เกี่ยวกับ Midjourney ซึ่งเป็นเครื่องมือ AI ที่ช่วยสร้างสรรค์คอนเทนต์ภาพในสายครีเอทีฟ ทั้งคณะนิเทศศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี ตลอดจนสายวิชาการที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองใช้เทคนิค AI-Enhanced Visual Effects เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ AI ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ เรียนรู้แนวทางการใช้งาน Midjourney สำหรับงานศิลปะ ภาพยนตร์ และการออกแบบ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมทดลองใช้เทคนิค AI-Enhanced Visual Effects ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในอุตสาหกรรม

“การอบรมครั้งนี้จะช่วยเปิดมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับการใช้ AI ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริง รวมถึงได้รับแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลงานของตนเองด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์”อาจารย์กอบกิจ กล่าวอาจารย์

ด้านอาจารย์สุชาติ วิทยากรกล่าวว่า ในช่วงแรกของการศึกษาเกี่ยวกับ AI สำหรับงานครีเอทีฟนั้น ข้อมูลและแหล่งความรู้ยังมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะในประเทศไทย ส่งผลให้การก่อตั้งกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ต้องเริ่มต้นที่ต่างประเทศก่อน ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์ความรู้ด้าน AI และการสร้างสรรค์คอนเทนต์ กลุ่ม Midjourney ได้กลายเป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญและนักสร้างสรรค์เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคต่างๆ ปัจจุบัน กลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่าน Midjourney ทาง Facebook ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ประมาณ 290,000 คน  มีผลงานภาพยนตร์ไทยกว่า 20 เรื่อง

ส่วน อาจารย์ เมธากวี หนึ่งในผู้ดูแลเพจ Midjourney Thailand ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการกลุ่ม และเผยแพร่ความรู้ด้าน AI และอาจารย์ ธตรฐ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน CG และ Visual Effects สำหรับภาพยนตร์ ก่อนที่จะหันมาประยุกต์ใช้ AI เป็นเครื่องมือในการพัฒนาผลงานด้านสื่อดิจิทัล ทีมงานเหล่านี้เป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยผลักดันให้กลุ่มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับนักสร้างสรรค์ที่ต้องการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับ AI

       

และ“มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการสร้างภาพของ AI ว่าเป็นการดึงภาพจากอินเทอร์เน็ตมาปรับแต่งใหม่ แต่ในความเป็นจริง AI ไม่ได้ใช้วิธีการ “คัดลอก” หรือ “ตัดต่อ” ภาพที่มีอยู่ก่อนแล้ว แต่เป็นการ สร้างขึ้นใหม่ตั้งแต่ศูนย์ โดยอ้างอิงจากข้อมูลมหาศาลที่ถูกฝึกมาจากตัวอย่างภาพหลายล้านรูปแบบ AI จะวิเคราะห์และเรียนรู้องค์ประกอบของศิลปะ เช่น แสง เงา พื้นผิว และโครงสร้าง เพื่อสร้างภาพใหม่ที่เป็นต้นฉบับ” อาจารย์สุชาติ กล่าว / ผ่านฟ้า ค็อปไทย รายงาน